วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2559 เวลา 13.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดศรีชุม (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ในการถวายผ้าพระกฐินสภากาชาดไทย ประจำปี 2559 โดยมีเลขาธิการสภากาชาดไทย เหรัญญิกสภากาชาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และคณะกรรมการเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท รับเสด็จ
หลังจากเสร็จพิธีถวายผ้าพระกฐินสภากาชาดไทย เลขาธิการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลรายงานยอดเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัด เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,746,268.61บาท และเบิกผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 117ราย จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินกลับ
วัดศรีชุม (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) ตั้งอยู่เลขที่ 234/17 หมู่ 10 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีเนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน มีประวัติโดยย่อ ดังนี้ วัดศรีชุม มาจากคำพื้นเมืองเดิม ซึ่งหมายถึง ดงของต้นโพธิ์ ผู้สร้างวัดศรีชุมนั้นไม่ปรากฏชื่อ แต่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยปรากฏใน ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ใช้วัดศรีชุมประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเมื่อปี พ.ศ.2127 ต่อมาวัดนี้ได้ถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2497 กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ และเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดแห่งนี้
ปัจจุบัน พื้นที่ของวัดศรีชุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีคูน้ำคั่นกลาง ทิศเหนือเป็นเขตโบราณสถาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ประกอบด้วย มณฑป พระอจนะ วิหารหลวง วิหารน้อย ส่วนฐานของเจดีย์รายและทิศใต้เป็นเขตพระอาราม ประกอบด้วยเสนาสนะ คือ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ อาศรมบรมครู (ฤาษี) พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร พระประธานในพระอุโบสถ ตั้งแต่ พ.ศ.2484 (ก่อนเชิญมาเก็บรักษาภายในวิหารเพื่อความปลอดภัย) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.1900 และกรรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือรับรองสภาพวัด เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2536 และปัจจุบัน มีพระอธิการเกรียงไกร สุภาทโร เป็นเจ้าอาวาส มีพระภิกษุจำพรรษา จำนวน 7 รูป โดยทางวัดยังขาดแคลนงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถโบราณ อายุกว่า 700 ปี ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่เพียงพอ